การเมือง
ทำไมต้องต่อพรก.ฉุกเฉิน!? ศบค.ชี้แจงละเอียดยิบ

ทำไมต้องต่อพรก.ฉุกเฉิน!? ศบค.ชี้แจงละเอียดยิบ

ทำไมต้องต่อพรก.ฉุกเฉิน!? ศบค.ชี้แจงละเอียดยิบ

โฆษก ศบค. ชี้แจง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นอำนาจตามกฎหมายเชิงป้องกัน ในการแก้ไขปัญหาที่มีประสิทธิภาพ เพื่อเฝ้าระวังไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ภายในประเทศ

วันนี้ (22 ก.ค. 63) เวลา 12.00 น. ณ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) โถงกลาง ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. แถลงสถานการณ์ประจำวัน และมาตรการในการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

โฆษก ศบค. กล่าวถึงการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ศบค.ชุดใหญ่วันนี้ว่า ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขได้รายงานการตรวจตัวอย่าง COVID-19 ในกรณีสอบสวนโรคเพิ่มเติม จังหวัดระยองและกรุงเทพมหานคร จำนวน 7,207 ราย ทุกรายตรวจไม่พบเชื้อ ซึ่งจากสถานการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้นกับสองจังหวัดนี้ ทำให้เกิดการเรียนรู้และต้องมีมาตรการอย่างละเอียดเพื่อที่จะดูแลกันต่อไป

สถานการณ์ประจำวันในประเทศวันนี้ พบผู้ป่วยติดเชื้อ 6 ราย อยู่ที่สถานกักกันที่รัฐจัดให้ ทำให้มีผู้ป่วยรวม 3,261 ราย หายป่วยแล้ว 3,105 ราย เสียชีวิตคงเดิมที่ 58 ราย พักรักษาตัวในโรงพยาบาล 98 ราย ขณะที่สถานการณ์โลกพบผู้ป่วยติดเชื้อยืนยันที่ 15,093,712 ราย สหรัฐอเมริกาพบผู้ป่วย 4,028,569 ราย ซึ่งแตะ 4 ล้านรายเป็นวันแรก ผู้เสียชีวิตรวมทั่วโลก 619,467 ราย โดยไทยมีจำนวนผู้ติดเชื้ออยู่อันดับที่ 103 ของโลก

ด้านความก้าวหน้าของการผลิตวัคซีน ในการร่วมมือกับต่างประเทศ ซึ่งสนับสนุนให้โรงงานสยามไบโอไซเอนซ์พัฒนาต่อยอดการผลิตวัคซีน โดยที่ประชุมได้อนุมัติหลักการที่จะนำไปสู่ความร่วมมือกับประเทศที่มีศักยภาพในการผลิตวัคซีนโดยเร็ว เพื่อทำให้เกิดความมั่นคงทางด้านสาธารณสุขต่อไป

โฆษก ศบค. รายงานว่า ที่ประชุม ศบค. ได้พิจารณาความเหมาะสมในการขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดฯ ในภาพรวมทั่วโลกยังคงมีการระบาดที่รุนแรง อีกทั้งมีคนไทยจากต่างประเทศและชาวต่างชาติที่ได้รับการผ่อนผันเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับจะมีการอนุญาตชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรเพิ่มเติม


นอกจากนี้ มาตรการผ่อนคลายภายในประเทศที่ดำเนินการอยู่ เป็นกิจกรรมที่มีความเสี่ยงสูงต่อการแพร่ระบาดของโรค จึงจำเป็นต้องมีการกำกับดูแลโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐอย่างเข้มงวดและต่อเนื่อง เพื่อเฝ้าระวังไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคภายในประเทศ โดย


1. จำเป็นต้องมีอำนาจตามกฎหมายเชิงป้องกันในการแก้ไขปัญหาที่มีประสิทธิภาพ อาทิ


1) การควบคุมการเดินทางเข้า-ออกราชอาณาจักรในทุกช่องทาง

2) การจัดทำระบบติดตามตัว การกักตัว และการเฝ้าระวังบุคคลต้องสงสัย

3) มาตรการการควบคุมโรคที่สามารถบังคับใช้ได้อย่างครอบคลุมในทุกกิจกรรม/กิจการที่เกี่ยวข้อง


2. จำเป็นต้องมีระบบการบริหารจัดการวิกฤตการณ์ในลักษณะการรวมศูนย์ที่ปฏิบัติงานได้อย่างรวดเร็ว เป็นเอกภาพและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งมีการบูรณาการกำลังพลเรือน ตำรวจ และทหารเข้าร่วมปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ


3. อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จะเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการเตรียมความพร้อมให้กับประเทศในช่วงการเปลี่ยนผ่านไปสู่ฐานชีวิตใหม่ (New Normal) จนกว่าจะมีกฎหมายฉบับอื่นมารองรับในอนาคต

กรณีการเดินทางภายใต้ข้อตกลงพิเศษ (Special Arrestment) และมาตรการสำหรับบุคคลในคณะทูต คณะกงสุล องค์การระหว่างประเทศ ผู้แทนรัฐบาล หรือหน่วยงานของรัฐ ที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงการต่างประเทศ ทั้งนักธุรกิจและผู้เชี่ยวชาญ และนักการทูต ที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย จะต้องกักตัว 14 วัน

การพิจารณาแนวทางมาตรการหลักเกณฑ์และวิธีการปฏิบัติ สำหรับการนำแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ ได้แก่ เมียนมา ลาว และกัมพูชา เข้ามาในประเทศ โดยกระทรวงแรงงานได้เสนอให้มี Organizational Quarantine ที่หน่วยงานจัดพื้นที่เพื่อให้แรงงานได้ทำการกักตัว 14 วัน และเพื่อเป็นการลดต้นทุนต่าง ๆ อาจจะให้ทำการกักตัวอย่างน้อยห้องละสองคน เพื่อให้คนกลุ่มนี้ได้อยู่ในพื้นที่ที่ได้รับการตรวจตามมาตรฐาน ทั้งในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขและฝ่ายมั่นคง

การพิจารณาการเตรียมความพร้อมเพื่อผ่อนคลายการบังคับใช้กฎหมายในอนาคต ซึ่งจะมี 4 กลุ่มที่เกี่ยวข้อง คือการอนุญาตให้ชาวต่างชาติเข้ามาจัดแสดงสินค้าในราชอาณาจักร ที่จะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจพอสมควร ได้มีการเสนอถึงแนวปฏิบัติในการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าสำหรับชาวต่างชาติ ตั้งแต่ก่อนเข้ามาในราชอาณาจักร การกำกับดูแลเมื่อเข้ามาแล้ว โดยมีการหารือในรายละเอียด ซึ่งที่ประชุมได้รับในหลักการ รับฟังข้อเสนอและมีการพิจารณาร่วมกันเป็นอย่างดีให้เห็นภาพของการควบคุมดูแล โดยสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการจะเป็นผู้ให้ข่าวในรายละเอียดต่อไป

ด้านการอนุญาตให้ชาวต่างชาติเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ในประเทศ ในแต่ละปีมีภาพยนตร์เข้ามาถ่ายทำมากมาย มีมูลค่าเพิ่มขึ้นทุกปี รวมถึงเรื่อง Medical and Wellness โปรแกรมแพ็คเกจทัวร์ที่เชื่อมโยงเข้าไป เพื่อให้ผู้มีศักยภาพได้เข้ามาทำการรักษาได้เที่ยวต่อหลังจากอยู่ รพ. แล้ว 14 วัน และเรื่องผู้ถือบัตร Thailand Elite Card มีสมาชิก 10,363 ราย อยู่ในไทย 3,108 ราย นอกราชอาณาจักร 7,255 ราย โดยมีกลุ่มที่จะนำร่องให้เดินทางเข้าราชอาณาจักรอยู่จำนวน 200 ราย ซึ่งกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้นำเสนอในข้อปฏิบัติต่าง ๆ และการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ให้ที่ประชุม ศบค. ชุดใหญ่ได้รับทราบและอนุมัติในหลักการให้ กระทรวงการท่องเที่ยวฯ จัดทำรายละเอียดต่อไป


Powered by Froala Editor

ข่าวที่คุณอาจสนใจ
TOP NEWS
  • TODAY
  • WEEK
  • MONTH